ปัญหาปั๊มน้ำหอยโข่งทำงานเสียงดัง

หมวดหมู่: บทความปั๊มน้ำ

ปัญหาปั๊มน้ำหอยโข่งทำงานเสียงดัง

 

   ปัญหาปั๊มน้ำหอยโข่งเสียงดังบ่อยครั้งมักเกิดจากระบบที่ติดตั้ง และอาการนี้มักจะเกิดร่วมกับอาการแรงดันน้ำเบา และปัญหานี้เป็นปัญหาที่ส่งผลให้ปั๊มน้ำชำรุดได้จึงควรหาสาเหตุเพื่อทำการแก้ไข ซึ่งบทความนี้จะอธิบายสาเหตุและวิธีแก้ปัญหาให้ได้ทราบกันครับ

 

ปัจจัยที่เกียวข้องกับอาการปั๊มทำงานเสียงดัง

 

1.ใบพัดน้ำหมุนกลับทิศทาง (เฉพาะปั๊มน้ำแบบไฟฟ้า 3เฟส)

2.ใบพัดน้ำชำรุด

3.อุปกรณ์ ข้อต่อหรือท่อมีการรั่วซึม

4.ท่อดูดมีขนาดเล็ก

5.ระยะด้านดูดลึกหรือไกล

6.มีสิ่งสกปรกอุดใบพัดน้ำ

7.ฟุตวาล์วไม่เปิด หรือ เปิดไม่เต็มที่

8.ท่อด้านจ่ายใหญ่กว่าสเปคปั๊ม

9.ระยะหักงอด้านดูดน้อย

10.มีอากาศค้างในระบบท่อด้านดูด

11.ตลับลูกปืนเสียงดัง

 

รายละเอียด

1.ใบพัดน้ำหมุนกลับทิศทาง ปัญหานี้จะพบเฉพาะปั๊มน้ำแบบไฟฟ้า 3เฟส โดยปกติหากเรามองที่ใบพัดระบายอากาศด้านหลังของปั๊มน้ำ ใบพัดระบายอากาศจะต้องหมุนในทิศตามเข็มนาฬิกา (จากซ้ายไปขวา) หากพบว่าหมุนผิดทิศทาง ให้ทำการสลับสายไฟจากแหล่งจ่ายไฟที่ต่อเข้าปั๊มน้ำ 1คู่ (R กับ S หรือ R กับ T หรือ S กับ T) แล้วสังเกตุทิศทางการหมุนอีกครั้ง หากใบพัดระบายอากาศหมุนตามเข็มนาฬิกาก็แสดงว่าใบพัดน้ำหมุนถูกทาง ปั๊มควรทำงานด้วยเสียงและแรงดันน้ำปกติ

2.ใบพัดน้ำชำรุด อาการใบพัดน้ำชำรุดจะทำให้ปั๊มน้ำมีเสียงดัง อาการนี้จะเกิดร่วมกับแรงดันน้ำเบาและเครื่องจะสั่นกว่าปกติ การตรวจสอบหัวข้อนี้อาจหมุนใบพัดระบายอากาศ (ขณะปั๊มไม่ทำงาน) มักจะพบว่ามีเสียงเสียดสีจากโข่งหน้าปั๊ม (Pump body) หรืออาจจะต้องถอดโข่งหน้าปั๊มเพื่อตรวจสอบ

3.อุปกรณ์ ข้อต่อหรือท่อมีการรั่วซึม กรณีที่เกิดการรั่วซึมที่ท่อด้านดูด จะทำให้อากาศเข้ามากับน้ำและทำให้เกิดเสียงดัง อาการนี้ตรวจสอบได้โดยสังเกตุจุดต่อต่างๆว่ามีจุดรั่วซึมหรือไม่ หรือทดลองปิดวาล์วจ่ายที่ด้านจ่ายน้ำ หากเสียงปั๊มเงียบแสดงว่าอาจมีสาเหตุจากที่ได้กล่าวไปข้างต้น ส่วนสาเหตุนั้นมีดังนี้

-ใช้ท่อด้านดูดที่เป็นสายอ่อน (การใช้ท่ออ่อนจะมีอากาศเข้าตามจุดต่อต่างๆได้ง่าย) ข้อแนะนำ ควรเลือกใช้ท่อ PVC หรือท่อชนิดที่มีการเชื่อมต่อที่ดี เช่น ท่อ PPR เพื่อป้องกันการรั่วซึมตามจุดต่อ

-มีข้อต่อแบบยูเนี่ยนที่ด้านดูดและขันไม่แน่นหรือรั่ว (ทำให้อากาศเข้าที่จุดนั้นได้) ข้อแนะนำ ตรวจสอบการขันยูเนี่ยน หรือตรวจสอบสภาพประเก็นของยูเนี่ยน หรือ หลีกเลี่ยงการใช้ยูเนี่ยน

-ต่อท่อด้านดูดโดยไม่ใช้กาวประสานท่อ หรือใช้กาวที่คุณภาพต่ำ (ทำให้อากาศเข้าได้) ข้อแนะนำ เลือกใช้กาวประสานท่อที่มีคุณภาพดีซึ่งจะทำให้ท่อละลายและประสานกันได้ดีและยังมีคุณสมบัติรับแรงดันน้ำสูงได้อีกด้วย

-ใช้ท่อดูดเดิมที่มีสภาพเก่าทำให้ข้อต่อต่างๆเสื่อมสภาพและอากาศเข้าได้ ข้อแนะนำ ตรวจสอบสภาพตามข้อต่อหรือทำระบบท่อด้านดูดใหม่

4.ท่อดูดมีขนาดเล็ก หากใช้ท่อดูดที่เล็กกว่าสเปคจะทำให้เกิดปัญหาน้ำเข้าตัวปั๊มไม่ทันกับที่ออกแบบไว้ จะทำให้เกิดปัญหาคาวิเตชั่น ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดเสียงดังและทำให้ชิ้นส่วนของปั๊มชำรุดในเวลาอันรวดเร็วได้

ข้อแนะนำ ควรใช้ท่อขนาดเท่ากับที่กำหนดหรือสามารถใช้ท่อขนาดใหญ่กว่าสเปคปั๊ม 1 เบอร์ จะทำให้น้ำเข้าตัวปั๊มได้ดียิ่งขึ้น

5.ระยะด้านดูดลึกหรือไกล หากท่อด้านดูดลึกหรือไกลเกินไปจะทำให้เกิดความสูญเสียในท่อสูง นั่นคือน้ำเข้าตัวปั๊มได้น้อยนั่นเอง ระยะดูดที่ลึกหรือไกลมากจะทำให้เกิดเสียงดังและประสิทธิภาพของปั๊มลดลง

ข้อแนะนำ ท่อด้านดูดควรลึกไม่เกิน 4-6เมตร และปั๊มควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำให้มากที่สุด

6.มีสิ่งสกปรกอุดตันใบพัด หากมีวัตถุขวางทางน้ำเข้าใบพัดจะทำให้น้ำเข้าใบพัดได้น้อยและเกิดปัญหาเสียงดังรวมถึงแรงดันน้ำเบาตามมา ที่พบบ่อยคือก้อนกรวด เศษใบไม้ หอยจากแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือยางประเก็นต่างๆที่หลุดเข้ามาในระบบท่อด้านดูด

ข้อแนะนำ ตรวจสอบเบื้องต้นได้โดยการมองเข้าไปด้านหน้าปั๊ม(บางกรณีอาจมองด้านหน้าไม่เห็น) ควรทำความสะอาดระบบท่อดูดก่อนติดตั้งปั๊มรวมทั้งการป้องกันใบไม้และสิ่งแปลกปลอมเข้าด้านดูด เช่น ใช้ตาข่ายตาถี่หุ้มที่ปลายท่อด้านดูด เป็นต้น

7.ฟุตวาล์วไม่เปิดหหรือเปิดไม่เต็มที่ หากฟุตวาล์วที่ท่อด้านดูดไม่เปิดหรือเปิดไม่เต็มที่จะทำให้น้ำไม่เข้าปั๊มหรือเข้าได้น้อย สาเหตุอาจเกิดจาก

-ฟุตวาล์วใช้งานมานานทำให้เปิดปิดไม่ดี อาจถอดฟุตวาล์วแล้วใช้มือดันลิ้นวาล์วเพื่อตรวจสอบการเปิดปิด

-ฟุตวาล์วเปิดไม่ได้หรือเปิดไม่เต็มที่เนื่องจากเกลียวปลายท่อที่ขันกับฟุตวาล์วยาวจนไปยันลิ้นวาล์วไว้ ข้อแนะนำ วัดระยะปลายเกลียวที่จะขันเข้าฟุตวาล์วให้เหมาะสม(ไม่ยาวจนยันลิ้นวาล์ว)

    การทดสอบหัวข้อนี้อาจทำได้โดยให้ปั๊มทำงานแล้วขันฟุตวาล์วออก หากเสียงหายไปแสดงว่าเกิดปัญหาจากฟุตวาล์ว (หมายเหตุ: การทดสอบแบบนี้ควรทำโดยช่างผู้ชำนาญเท่านั้น)

8.ท่อด้านจ่ายใหญ่กว่าสเปคปั๊ม อาการนี้จะเกิดร่วมกันคือทั้งปั๊มเสียงดังและแรงดันน้ำเบา ทดสอบได้ด้วยการหรี่วาล์วด้านจ่ายลงก็จะทำให้เสียงดังหายไปและแรงดันน้ำเพิ่มแรงขึ้น

ข้อแนะนำ ควรใช้ท่อด้านจ่ายที่มีขนาดตรงกับสเปคของปั๊มเพื่อให้ปั๊มทำงานได้ตามที่ออกแบบไว้ แต่หากไม่สามารถแก้ไขขนาดท่อได้ก็ใช้วิธีหรี่วาล์วด้านจ่ายเพื่อให้ปริมาณน้ำที่ออกเป็นไปตามช่วงการทำงานของปั๊ม

9.ระยะหักงอด้านดูดน้อยเกินไป หากระยะระหว่างหน้าปั๊มจนถึงจุดหักลงถัง/บ่อพักน้ำน้อยเกินไปจะทำให้น้ำเกิดความแปรปรวนและทำให้เกิดเสียงดัง ระยะที่เหมาะสมระหว่างหน้าปั๊มจนถึงจุดหักลงถัง/บ่อพักน้ำคือ6เท่าของขนาดท่อดูดนั้น

ตัวอย่าง ท่อด้านดูดขนาด 2นิ้ว ต้องมีระยะท่อแนวราบระหว่างหน้าปั๊มถึงจุดหักลงบ่อพัก 12นิ้ว

10.มีอากาศค้างในระบบท่อด้านดูด อากาศที่ค้างในท่อด้านดูดจะทำให้เกิดเสียงดังและแรงดันน้ำเบา สาเหตุอาจเกิดจาก

-ไล่อากาศออกจากระบบไม่หมด ข้อแนะนำ ทำจุดไล่อากาศในจุดที่ท่อสูงสุด(ปกติจะอยู่หน้าปั๊ม)

-ท่อด้านดูดสูงกว่าหัวปั๊มทำให้อากาศออกไม่ได้ ข้อแนะนำ ควรเดินท่อด้านดูดให้ลาดเอียงจากหน้าปั๊มไปแหล่งน้ำ (ท่อหน้าปั๊มสูงสุดแล้วลาดเอียงลงไปหาแหล่งน้ำ) หากแก้ไขท่อไม่ได้ต้องหาจุดที่ท่อสูงกว่าหน้าปั๊มแล้วทำจุดไล่อาอาศที่จุดนั้น

-มีจุดที่อากาศค้างอยู่ เช่น เดินท่อดูดใหญ่แล้วลดขนาดก่อนเข้าปั๊ม ทำให้อากาศค้างอยู่บริเวณจุดลดท่อนั้นได้ ข้อแนะนำ ใช้ข้อลดแบบคางหมูเพื่อป้องกันจุดที่อากาศค้าง หรือ แก้ปัญหาด้วยการทำจุดไล่อากาศที่จุดลดท่อนั้น

11.ตลับลูกปืนเสียงดัง ในกรณีที่ปั๊มเสียงดังจากตลับลูกปืนนั้นจะดังตลอดเวลา ทดสอบได้โดยให้ปั๊มทำงานแล้วปิดวาล์วด้านจ่ายน้ำ หากปั๊มยังคงมีเสียงดังอยู่ก็มีโอกาสที่ปั๊มจะเสียงดังจากตลับลูกปืนได้

ข้อแนะนำ หากพบว่ามีเสียงดังจากตลับลูกปืนจริงควรทำการเปลี่ยนตลับลูกปืนโดยเร็ว เนื่องจากตลับลูกปืนอาจชำรุดจนถึงขั้นแตกหรือล็อคตัว ก็จะทำให้ชุดขดลวดทองแดง(Coil) ไหม้ได้

 

                หากทำการตรวจสอบและแก้ไขตามที่ได้แนะนำแล้วยังพบอาการเดิมอยู่ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมจากศูนย์บริการของบริษัท โทรเบอร์ 0-2906-3337-8 ในช่วงเวลา 8.00-17.00 วันจันทร์-วันศุกร์

10 เมษายน 2563

ผู้ชม 21749 ครั้ง

Engine by shopup.com