3 ข้อง่ายๆ เลือกมอเตอร์...ไม่พังเร็ว

หมวดหมู่: บทความมอเตอร์

3 ข้อง่ายๆ เลือกมอเตอร์...ไม่พังเร็ว

 

เคยหรือไม่ที่ซื้อมอเตอร์ใหม่แทนตัวเก่า หรือ กำลังจะซื้อมอเตอร์มาใช้แล้วพบปัญหา หรือมีคำถามนี้

“ซื้อมอเตอร์แบบเดียวกับตัวเก่าแต่ทำไมใช้ไม่นานก็พัง”

“มอเตอร์ใหม่ทำไมไม่ทนเหมือนตัวเก่าเลย” หรือ “มอเตอร์รุ่นใหม่ๆทำไมไม่ทนเหมือนรุ่นเดิม”

“โรงงานผลิตมอเตอร์ลดต้นทุนการผลิตแน่ๆ มอเตอร์รุ่นใหม่ๆเลยไม่ทนทาน”

“จะซื้อมอเตอร์ใหม่แทนตัวที่ใช้อยู่ต้องดูอะไรบ้าง”

 

ท่านรู้หรือไม่ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหามอเตอร์พังเร็วมาจากการเลือกมอเตอร์ไม่ถูกต้อง

เรามาดูข้อมูลที่สำคัญ 3ข้อ ในการเลือกซื้อมอเตอร์ใหม่ หรือ การซื้อมอเตอร์แทนตัวเก่าที่ใช้อยู่ว่าจะต้องรู้อะไรบ้าง สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้มีดังนี้

  1. ระบบไฟฟ้า (โวลท์ และ เฟส )
  2. กำลังของมอเตอร์ (HP หรือ kW)
  3. จำนวนโพล (Pole) หรือ ความเร็วรอบของมอเตอร์ (Speed / min-1, rpm)

 

 

ข้อมูลหลัก 3 ข้อด้านบน เป็นข้อมูลสำคัญในการซื้อมอเตอร์ใหม่ หรือ ซื้อมอเตอร์แทนตัวเก่าที่ใช้อยู่ หากข้อมูลตัวใดตัวหนึ่งไม่ถูกต้องก็จะทำให้มอเตอร์ชำรุดหรือเสียหายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นขอให้ตรวจสอบข้อมูลทั้ง 3ข้อให้มั่นใจก่อนซื้อเพื่อจะได้ใช้งานมอเตอร์ได้ยาวนาน

รายละเอียด 3อย่างที่สำคัญในการเลือกมอเตอร์ หรือ ซื้อมอเตอร์แทนตัวเดิมได้แก่

  1. ระบบไฟฟ้า......แรงดันไฟฟ้าที่จ่ายให้มอเตอร์และเฟส เป็นแบบไฟบ้านทั่วไป (1เฟส 220โวลท์) หรือไฟโรงงาน (3เฟส 220โวลท์ หรือ 3เฟส 380 โวลท์)

บนป้ายสินค้า (เนมเพลท/nameplate) ของมอเตอร์จะอยู่ที่บรรทัดหรือช่องที่เขียนว่า V

จุดที่มักจะผิดพลาดคือ มอเตอร์ตัวเก่าเป็นมอเตอร์ 3เฟส 220/380โวลท์ (แบบไฟโรงงานแรงดันต่ำ) คือมอเตอร์ดังกล่าวใช้ได้ทั้ง ไฟ 3เฟส 220โวลท์ และไฟ 3เฟส 380โวลท์ ถ้าหากลูกค้าซื้อมอเตอร์ 220โวลท์ 1เฟส (แบบไฟบ้าน)ก็จะไม่สามารถใช้งานได้ หรือบางครั้ง ผู้ใช้งานต้องการมอเตอร์สำหรับไฟบ้านแบบ 220โวลท์ 1เฟส แต่ได้มอเตอร์ 220โวลท์ 3เฟส มาแทน ก็จะไม่สามารถใช้งานได้เช่นกัน

 

  1. กำลัง.................กำลังของมอเตอร์ที่ต้องการสำหรับขับภาระงาน (โหลด) หรือเครื่องจักร

บนป้ายสินค้า (เนมเพลท/nameplate) ของมอเตอร์จะอยู่ที่บรรทัดหรือช่องที่เขียนว่า HP (แรงม้า) หรือ kW (กิโลวัตต์)

จุดที่ต้องระวังสำหรับเรื่องกำลังมอเตอร์คือ หน่วยของกำลังมอเตอร์ เนื่องจากมอเตอร์แต่ละมาตรฐานจะมีหน่วยกำลังมอเตอร์ต่างกัน (HP / kW) มีบางครั้งที่ลูกค้าแจ้งว่าซื้อมอเตอร์กำลังเท่าตัวเก่าแต่ใช้แล้วมอเตอร์เสียเร็ว เมื่อสอบถามข้อมูลพบว่ามอเตอร์ตัวเก่ากับตัวใหม่ใช้หน่วยของกำลังมอเตอร์แตกต่างกัน เช่นมอเตอร์ตัวเก่ามีขนาด 3.3kW แต่ลูกค้าซื้อมอเตอร์ตัวใหม่เป็นขนาด 3HP ทำให้มอเตอร์ตัวใหม่เป็นรุ่นที่กำลังไม่เท่ากับตัวเก่า (น้อยกว่า) เมื่อใช้มอเตอร์ใหม่ที่กำลังไม่เพียงพอกับโหลดจะทำให้มอเตอร์กระแสสูงและเกิดความเสียหาย (มอเตอร์ 1kW เท่ากับ 1.341 HP ดังนั้น มอเตอร์ขนาด 3.3kW เท่ากับประมาณ 4.425 HP นั่นหมายถึงควรจะเลือกซื้อมอเตอร์ประมาณ 5HP หรือ 3.7kW เพื่อให้มีกำลังเพียงพอเมื่อเทียบกับมอเตอร์ตัวเดิม)

 

  1. จำนวนโพลหรือขั้ว (Pole)..........จำนวนโพลของมอเตอร์จะเป็นตัวบอกความเร็วรอบของมอเตอร์ เช่น มอเตอร์ 4โพล (4Pole) จะมีความเร็วรอบขณะทำงานอยู่ที่1500 รอบ/นาที (1430 – 1500) ที่ความถี่ 50

บนป้ายสินค้า (เนมเพลท/nameplate) ของมอเตอร์จะอยู่ที่บรรทัดหรือช่องที่เขียนว่า Pole หรือหากดูที่ความเร็วรอบจะดูที่ min-1 หรือ RPM

 จำนวนโพลหรือขั้วของมอเตอร์จะเป็นตัวกำหนดความเร็วรอบของมอเตอร์ หากมอเตอร์ตัวเก่าเป็นแบบ 2โพล (2Pole) นั่นหมายถึงเครื่องจักรดังกล่าวต้องการความเร็วรอบจากมอเตอร์ 2900 – 3000 รอบ/นาที ถ้าผู้ใช้งานซื้อมอเตอร์ตัวใหม่ทดแทนเป็นแบบ 4โพล (4Pole) มอเตอร์ตัวดังกล่าวจะทำงานที่ 1430-1500 รอบ/นาที ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความเร็วรอบต่ำ ส่งผลให้เครื่องจักรทำงานได้ไม่เต็มที่ เช่น ถ้าเป็นมอเตอร์ขับใบพัดลมก็จะได้แรงลมลดลง หรือ ถ้าเป็นมอเตอร์ขับปั๊มน้ำก็จะทำให้ได้ปริมาณและแรงดันน้ำน้อยลง

ในทางกลับกัน หากมอเตอร์ตัวเก่าใช้แบบ 4โพล แต่ซื้อมอเตอร์ใหม่แบบ 2โพล จะเกิดปัญหาเรื่องกำลังหรือแรงบิดของมอเตอร์ เนื่องจากมอเตอร์ที่มีจำนวนโพลสูง (เช่น 4โพล) จะให้แรงบิดสูงกว่ามอเตอร์ที่มีโพลต่ำ ดังนั้นหากเราใช้มอเตอร์โพลต่ำ (เช่น 2โพล) แทนมอเตอร์โพลสูง (เช่น 4โพล) จะส่งผลให้เกิดปัญหาแรงบิดหรือกำลังไม่พอ มอเตอร์จะมีกระแสสูงและเสียหายอย่างรวดเร็ว

 

สรุปความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนโพลของมอเตอร์กับแรงบิดและความเร็วรอบ

 แรงบิด (Torque):                6โพล > 4โพล > 2โพล (แรงบิดมาก -> แรงบิดน้อย)

 ความเร็วรอบ (Speed)          2โพล > 4โพล > 6โพล (รอบสูง -> รอบต่ำ)

 

ข้อมูลหลัก 3 ข้อด้านบน เป็นข้อมูลสำคัญในการซื้อมอเตอร์ใหม่ หรือ ซื้อมอเตอร์แทนตัวเก่าที่ใช้อยู่ หากข้อมูลตัวใดตัวหนึ่งไม่ถูกต้องก็จะทำให้มอเตอร์ชำรุดหรือเสียหายอย่างรวดเร็ว

 

ข้อมูลอื่นๆที่ควรทราบลำดับถัดไปคือ ระดับการป้องกันของมอเตอร์ ( IP) หากจุดใช้งานอยู่ในพื้นที่ที่อาจส่งผลต่อมอเตอร์ เช่น มีน้ำสาดกระเซ็น มีฝุ่นผงจำนวนมาก มีเศษโลหะ ฯลฯ การเลือกมอเตอร์ต้องรองรับสภาวะดังกล่าวด้วย

 

สุดท้ายในการซื้อมอเตอร์ทดแทน หากเป็นการซื้อมอเตอร์คนละยี่ห้อ ผู้ใช้งานจะต้องยืนยันขนาดเพลาและระยะของจุดยึดต่างๆของมอเตอร์ตัวเก่าและตัวใหม่ เพื่อป้องกันปัญหามอเตอร์ใหม่ติดตั้งแทนตัวเดิมไม่ได้ (อาจดูขนาดเพลาและระยะของจุดยึดจากแคทตาล็อกของมอเตอร์ได้)

สำหรับผู้ใช้งานที่ได้ตรวจสอบจนมั่นใจว่ามอเตอร์ที่ซื้อมาใหม่แทนตัวเก่านั้นถูกต้อง แต่ทำไมมอเตอร์จึงยังเสียเร็ว เราขอแนะนำให้ตรวจสอบหัวข้อดังต่อไปนี้

                1.อุปกรณ์ไฟฟ้าที่จ่ายไฟให้มอเตอร์ เช่น เบรคเกอร์ แมคเนติกส์ ฯลฯ เสื่อมสภาพตามอายุใช้งาน หรือสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ หากอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าไม่สมบูรณ์ย่อมทำให้แรงดันไฟฟ้าที่จ่ายเข้ามอเตอร์ไม่สมบูรณ์ เกิดปัญหาแรงดันไฟฟ้าตก หรือ แรงดันไฟฟ้าไม่สมดุลย์เฟสหรือขาดเฟส จนมอเตอร์เกิดความร้อนผิดปกติและเสียหายได้

                2.ภาระงาน (โหลด/Load) หรือเครื่องจักรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เครื่องจักรและชิ้นส่วนต่างๆย่อมมีการสึกหรอหรือเสื่อมสภาพเป็นปกติ บางครั้งพบว่าเครื่องจักรหรือชิ้นส่วนต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้มอเตอร์รับภาระมากกว่าที่ออกแบบไว้ เช่น ตลับลูกปืนของเครื่องจักรเกิดความฝืด หรือชิ้นส่วนของเครื่องจักรสึกหรอ ฯลฯ สาเหตุเหล่านี้ย่อมทำให้มอเตอร์ต้องรับภาระสูงขึ้นจนบางครั้งเกินกำลังของมอเตอร์ ทำให้มอเตอร์เกิดสภาวะทำงานเกินกำลัง (Overload) ส่งผลให้มอเตอร์กระแสสูงและมอเตอร์เสียหาย

                                อาการอื่นๆที่อาจพบได้แก่ ชิ้นส่วนของเครื่องจักรสึกหรอหรือไม่สมดุลย์ เช่น ใบพัดลมไม่สมดุลย์ รูของมูเล่ย์หลวม ฯลฯ ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงแบบไม่สมดุลย์มาที่มอเตอร์ หรือมีแรงกระทำกับมอเตอร์แบบไม่สมดุลย์เป็นจังหวะจนทำให้เกิดความสั่นสะเทือนผิดปกติ ตลับลูกปืนของมอเตอร์อาจเสียหายหรือชำรุดอย่างรวดเร็ว บางกรณีอาจทำให้เพลาของมอเตอร์ขาดได้

                3.แรงดันไฟฟ้าสูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่ หลายครั้งที่พบว่ามอเตอร์ใหม่ที่ซื้อไปแทนตัวเก่าเสียหายอย่างรวดเร็วเพราะแรงดันไฟฟ้าที่จุดใช้งานเปลี่ยนแปลงไป สาเหตุอาจเกิดจากแรงดันไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายต่ำลงกว่าเมื่อก่อน หรือ บริเวณดังกล่าวมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาแรงดันไฟฟ้าตกหรือแรงดันไฟฟ้าไม่สมดุลย์เฟส ส่งผลกระทบกับกระแสของมอเตอร์โดยตรง

 

**ศูนย์บริการมอเตอร์ MITSUBISHI ELECTRIC และ ปั๊มน้ำ Super pump พร้อมให้คำปรึกษาและบริการด้วยช่างผู้เชี่ยวชาญ และ อะไหล่แท้จากโรงงาน**

  • ส่งซ่อมสินค้า เรียกช่างบริการหน้างาน แจ้งปัญหาสินค้า สอบถามงานบริการ Line id: @service.meath 
  • สั่งซื้ออะไหล่มอเตอร์และปั๊มน้ำ Line id: @shop.meath
  • ติดต่อทางโทรศัพท์: 02-906-3337, 02-906-3338
  • ข้อมูลมอเตอร์ MITSUBISHI ELECTRIC: https://mitsubishi-meath.com/

10 ตุลาคม 2566

ผู้ชม 82 ครั้ง

Engine by shopup.com