5 เหตุผลที่ทำให้มอเตอร์พัง   

หมวดหมู่: บทความมอเตอร์

5 เหตุผลที่ทำให้มอเตอร์พัง                

                  

คงมีหลายท่านที่มีคำถามหรือข้อสงสัยว่าทำไมมอเตอร์ที่ใช้อยู่ถึงเสียทั้งๆที่ใช้งานตามปกติหรือใช้ได้ไม่นาน วันนี้เราจะมาพูดถึง 5 สาเหตุหลักที่ทำให้มอเตอร์เสียให้ทุกท่านได้ทราบ

(เนื้อหาต่อไปนี้อาจมีการกล่าวถึงการตรวจสอบมอเตอร์หรือระบบไฟฟ้าซึ่งควรดำเนินการด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย)

5 สาเหตุหลักที่ทำให้มอเตอร์เสีย

1)การเลือกใช้มอเตอร์ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ถูกประเภท

2)สาเหตุจากการเก็บรักษาหรือการเคลื่อนย้ายที่ไม่เหมาะสม

3)สาเหตุจากการติดตั้งไม่เหมาะสม

4)ระบบไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ที่จ่ายไฟหรือควบคุมมอเตอร์มีปัญหา

5)ขาดการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ

หากการใช้มอเตอร์ต้องพบกับสาเหตุต่างๆทั้ง5ข้อที่กล่าวมา ก็จะทำให้อายุการใช้งานของมอเตอร์สั้นลงหรือมอเตอร์เสียหายก่อนเวลาอันควร เกิดปัญหาที่ตามมา เช่น ไลน์ผลิต shut down ต้องหยุดเครื่องจักรหรือหยุดการทำงาน หรือต้องเสียเงินซ่อมมอเตอร์หรืออาจจะต้องซื้อมอเตอร์ตัวใหม่ทดแทน ดังนั้น หากเราหลีกเลี่ยงทั้ง 5 ข้อข้างต้นได้ ก็จะทำให้มอเตอร์มีอายุใช้ที่งานยาวนาน เครื่องจักทำงานได้ต่อเนื่อง ลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายจากความเสียหายของมอเตอร์ได้

 

เราจะหลีกเลี่ยงสาเหตุข้างต้นได้อย่างไร

1.การเลือกใช้มอเตอร์ให้เหมาะสม

สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาในการเลือกใช้มอเตอร์ได้แก่ กำลังและรอบของมอเตอร์,แรงดันไฟฟ้าที่จุดใช้งานและสภาพแวดล้อมที่จุดใช้งาน ซึ่งเราต้องหาข้อมูลก่อนเลือกมอเตอร์ดังนี้

        1.1 เลือกกำลังและรอบการทำงานของมอเตอร์ให้เหมาะสมกับที่เครื่องจักรต้องการ ข้อนี้ผู้ใช้งานอาจจะต้องหาข้อมูลเครื่องจักรหรือสอบถามจากผู้ผลิตเครื่องเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง (เครื่องจักรต้องใช้มอเตอร์กี่แรงม้าหรือกี่กิโลวัตต์, ความเร็วรอบของมอเตอร์หรือจำนวนโพลที่) หากเราเลือกมอเตอร์กำลังน้อยกว่าที่เครื่องต้องการหรือความเร็วรอบไม่ตรงกับการใช้งานก็จะส่งผลให้มอเตอร์มีกระแสสูงเกินกระแสพิกัดของมอเตอร์ นำไปสู่การเสียหายของมอเตอร์ได้

        1.2 เลือกประเภทมอเตอร์ให้เหมาะกับระบบไฟฟ้าที่ออกแบบไว้ เช่น ระบบไฟฟ้า 1เฟส 220โวลท์ หรือ ระบบไฟฟ้า 3เฟส 380ใลท์ ผู้ใช้จะต้องทราบว่าระบบไฟฟ้าที่จะจ่ายเข้ามอเตอร์คือกี่โวลท์กี่เฟส เพื่อจะได้แจ้งให้ผู้จำหน่ายมอเตอร์ทราบ การเลือกมอเตอร์ไม่ตรงกับระบบไฟที่มีอาจทำให้เกิดปัญหาแรงดันไฟฟ้าสูง/ต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้มอเตอร์มีกระแสและอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ทำให้มอเตอร์เสียหายได้เช่นกัน

        1.3 เลือกมอเตอร์ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่จุดใช้งาน เช่น มอเตอร์ติดตั้งนอกอาคาร หรือ มอเตอร์ที่ใช้งานบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมมีเศษวัสดุ เศษเหล็กหรือฝุ่นผง ควรเลือกใช้มอเตอร์ประเภทหุ้มมิด (IP55) เป็นต้น

ตัวอย่าง เครื่องจักร A ต้องการมอเตอร์ขนาด 15HP (แรงม้า) ความเร็วรอบ 1450 – 1500 รอบ ระบบไฟฟ้าที่จ่ายเข้ามอเตอร์ 380 โวลท์ 3เฟส มอเตอร์และเครื่องจักรติดตั้งอยู่ในบริเวณที่มีเศษฝุ่นโลหะจากเครื่องจักร

จากข้อมูลข้างต้น ผู้ใช้จะต้องเลือกซื้อมอเตอร์ ขนาด 15HP 4โพล (4Pole) 1450-1500 RPM 3เฟส (3Phase) 380โวลท์ (380 V.) หรือ 220/380 โวลท์ (220/380 V.) ชนิดหุ้มมิด (IP55) เป็นต้น

2.การเก็บรักษาและเคลื่อนย้ายที่ไม่เหมาะสม ได้แก่

  • เก็บในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นหรือน้ำเข้าถึง มีฝุ่นผง หรือสารเคมีที่จุดจัดเก็บ
  • การเคลื่อนย้ายมีการโยน หรือมีการตกหล่น ทำให้ตัวมอเตอร์ถูกกระแทก อาจทำให้ชิ้นส่วนแตกหักหรือตลับลูกปืนชำรุดเสียหาย
  • การเก็บมอเตอร์โดยไม่ได้ใช้งานนานเกินไป จะทำให้จาระบีในตลับลูกปืนเปลี่ยนสภาพและหมดคุณสมบัติการหล่อลื่น

3.การติดตั้งไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดปัญหาในการใช้งานซึ่งนำไปสู่การเสียหายของมอเตอร์ เช่น

  • การต่อคอนเนคชั่นมอเตอร์ไม่เหมาะสม ปัญหานี้เกิดกับมอเตอร์ 3เฟส ซึ่งการต่อคอนเนคชั่นจะต้องพิจารณาแรงดันไฟฟ้าควบคู่กับชนิดของมอเตอร์ เช่น มอเตอร์ 3เฟสแบบแรงดันไฟฟ้าต่ำ (LT 220/3880โวลท์) หากลูกค้ามีระบบไฟฟ้าแบบ 220โวลท์ 3เฟส และต่อแบบ Direct on-line จะต้องต่อคอนเนคชั่นมอเตอร์แบบ เดลต้า (DELTA) หากต่อคอนเนคชั่นผิด (ต่อแบบ สตาร์/STAR) จะทำให้มอเตอร์เกิดความร้อนสูงและเสียหายได้ (ศึกษาการต่อคอนเนคชั่นได้จากเอกสารหรือคู่มือของมอเตอร์ หรือปรึกษาผู้ผลิต)
  • ติดตั้งมูเล่ย์ (Pulley) เข้าเพลามอเตอร์ด้วยการตอกหรือกระแทกอย่างรุนแรง ทำให้ตลับลูกปืนเสียหายและนำไปสู่อาการตลับลูกปืนล็อคและมอเตอร์เสียหาย
  • ติดตั้งมอเตอร์กับเครื่องจักรไม่ร่วมศูนย์ (Misalignment) ทำให้เกิดปัญหากับตัวมอเตอร์ เช่น มอเตอร์เสียงดัง ตลับลูกปืนเสียหายเร็ว มอเตอร์ร้อนผิดปกติ เครื่องจักรหรือมอเตอร์สั่น
  • ตั้งสายพานตึงมากเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาเพลาขาด ตลับลูกปืนเสียหายเร็ว มอเตอร์ร้อนผิดปกติ เครื่องจักรหรือมอเตอร์สั่นผิดปกติ มอเตอร์กระแสสูงหรือขดลวดของมอเตอร์ไหม้
  • ฐานหรือการติดตั้งไม่แน่นหนา จะทำให้มอเตอร์เคลื่อนตัวขณะใช้งานได้ อาจทำให้เกิดปัญหาเพลาขาด ตลับลูกปืนเสียหายเร็ว มอเตอร์เสียงดัง มอเตอร์ร้อนผิดปกติ เครื่องจักรหรือมอเตอร์สั่นผิดปกติ มอเตอร์กระแสสูงหรือขดลวดของมอเตอร์ไหม้

การติดตั้งมอเตอร์อย่างเหมาะสมสามารถดูรายละเอียดได้จากคู่มือการใช้งานของมอเตอร์ หรือสามารถติดต่อสอบถามผู้ผลิตมอเตอร์เพื่อขอข้อมูลได้โดยตรง

4.ระบบไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ที่จ่ายไฟหรือควบคุมมอเตอร์มีปัญหา เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้มอเตอร์ชำรุดเสียหาย ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังนี้

  • แรงดันไฟฟ้าที่จ่ายเข้ามอเตอร์สูงหรือต่ำกว่าปกติ เกณฑ์โดยทั่วไปของแรงดันไฟฟ้าที่แนะนำคือ มากกว่าหรือน้อยกว่าไม่เกิน 10% ของแรงดันไฟฟ้าพื้นฐาน
  • แรงดันไฟฟ้าไม่สมดุลย์ จะเกิดกรณีมอเตอร์ไฟฟ้า 3เฟส ซึ่งจะเกิดปัญหาเมื่อแรงดันไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายเกิดการไม่สมดุลย์ระหว่าง 3เฟส เป็นสาเหตุให้ขดลวดของเฟสที่แรงดันไฟฟ้าตกเกิดความร้อนสูงกว่าปกติจนทำให้ขดลวดร้อนและเสียหายได้ (ค่าความไม่สมดุลย์เฟสไม่ควรเกิน 5%)
  • อุปกรณ์ของแหล่งจ่ายหรือตู้ควบคุมผิดปกติ เช่น เบรคเกอร์หรือแมคเนติกส์จ่ายไฟฟ้าออกมาไม่สมบูรณ์เนื่องจากชำรุดหรือเสื่อมสภาพ จะทำให้ไฟฟ้าที่เข้ามอเตอร์ผิดปกติ จนขดลวดเกิดความร้อนสูงจนขดลวดเสียหาย
  • การต่อสายไฟไม่เหมาะสม บ่อยครั้งที่จะพบว่าสายไฟที่ต่อเข้ากับเบรคเกอร์หรือแมคเนติกส์ หรือสายไฟที่ต่อเข้ามอเตอร์ไม่ใช้หางปลา (Amp terminal) ซึ่งการต่อสายไฟลักษณะดังกล่าวจะทำให้เกิดการหลวมได้ง่าย หรือ เป็นสาเหตุที่ทำให้แรงดันไฟฟ้าเข้ามอเตอร์ไม่สม่ำเสมอจนเกิดปัญหาขดลวดมอเตอร์ร้อนจนเสียหายเร็ว

การป้องกันปัญหาไฟฟ้านี้สามารถทำได้ด้วยการตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ  (เช่น เบรคเกอร์, แมคเนติกส์ เป็นต้น) การติดตั้งตัวป้องกันแรงดันไฟฟ้าตก/เกินและไฟฟ้าไม่สมดุลย์เฟส รวมไปถึงการต่อสายไฟอย่างเหมาะสม ฯลฯ หากเรามีการตรวจสอบและปฏิบัติอย่างเหมาะสมก็จะป้องกันปัญหาจากระบบไฟฟ้าได้

5.ขาดการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้มอเตอร์ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน หัวข้อที่แนะนำให้มีการตรวจสอบ เช่น

การตรวจเช็คประจำวัน (โดยผู้ใช้งาน)

  1. เสียง ฟังเสียงการทำงานของมอเตอร์ขณะเริ่ม ขณะทำงาน และขณะกำลังหยุด
  2. กลิ่น ขณะทำงานมีกลิ่นผิดปกติจากตัวมอเตอร์เนื่องจากการไหม้ของน้ำยาวานิชในมอเตอร์หรือไม่
  3. สภาพภายนอก ตรวจสอบการชำรุดเสียหาย การปิดกันการระบายอากาศของมอเตอร์ การรั่วซึมของจาระบีจากตัวมอเตอร์ เป็นต้น
  4. กระแสของมอเตอร์ขณะทำงานเทียบกับกระแสพิกัดของมอเตอร์

 การตรวจสอบรายเดือน (โดยหัวหน้างาน)

  1. ตรวจสอบ Insulation resistance ของขดลวด, กระแสไฟฟ้า, แรงดันไฟฟ้า
  2. ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์การติดตั้ง( ฐานยึดมอเตอร์ , การต่อเข้ากับโหลด )
  3. ตรวจสอบสภาพของมอเตอร์ ( สี , เฟรม )  
  4. ตรวจสอบเสียงผิดปกติหรือไม่ ( ทั้งมอเตอร์และโหลด )
  5. มีกลิ่นผิดปกติหรือไม่ ( ทั้งมอเตอร์และโหลด )
  6. ความสั่นสะเทือน ( ทั้งมอเตอร์และโหลด )
  7. ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ที่ต่อใช้งานกับมอเตอร์ ( สายพาน , Coupling , Pulley )

การตรวจสอบประจำปี ( โดยช่างซ่อมบำรุง )

  1. ตรวจเช็ค Insulation resistance ของขดลวด, กระแสไฟฟ้า, แรงดันไฟฟ้า
  2. สภาพฉนวน (Insulation)
  3. สภาพสะพานไฟ (Terminal)
  4. เบ้า Bearing ของฝาปิดมอเตอร์
  5. สภาพตลับลูกปืน
  6. สภาพใบพัดลมระบายอากาศ
  7. สภาพสายไฟ

                       

**ศูนย์บริการมอเตอร์ MITSUBISHI ELECTRIC และ ปั๊มน้ำ Super pump พร้อมให้คำปรึกษาและบริการด้วยช่างผู้เชี่ยวชาญ และ อะไหล่แท้จากโรงงาน**

  • ส่งซ่อมสินค้า เรียกช่างบริการหน้างาน แจ้งปัญหาสินค้า สอบถามงานบริการ Line id: @service.meath 
  • สั่งซื้ออะไหล่มอเตอร์และปั๊มน้ำ Line id: @shop.meath
  • ติดต่อทางโทรศัพท์: 02-906-3337, 02-906-3338
  • ข้อมูลมอเตอร์ MITSUBISHI ELECTRIC: https://mitsubishi-meath.com/

10 ตุลาคม 2566

ผู้ชม 2711 ครั้ง

Engine by shopup.com